หมอสุรัตน์ เปิดเคสผู้ป่วยชายวัย 20 ปี สะอึกนานผิดปกติ ก่อนพบสาเหตุจากโรคเกี่ยวกับสมอง เตือนหากต่อเนื่องเกิน 2 วันต้องพบแพทย์
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ผศ. นพ.สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบประสาทและสมอง โพสต์ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์ เกี่ยวกับเคสคนไข้รายหนึ่ง ซึ่งมีอาการสะอึกไม่หาย จนพบว่ากลายเป็นโรคเกี่ยวกับสมอง
แค่สะอึก ใครจะคิดว่าเป็นโรคสมองได้ ? สะอึกธรรมดาที่เราคุ้นเคย ส่วนใหญ่มาจากกินอิ่มเกินไป กินอาหารรสจัด ดื่มเครื่องดื่มอัดแก๊ส หรือแค่การหายใจที่ไม่สัมพันธ์กับการทำงานของกระบังลม ซึ่งเส้นประสาท Phrenic nerve จะช่วยประสานการทำงาน จนร่างกายปรับตัวและกลับสู่ภาวะปกติเอง
แต่ถ้าสะอึก เกิน 2 วัน ระวังให้ดี นี่อาจเป็น “โรคสะอึกต่อเนื่อง” ซึ่งไม่ได้เกี่ยวแค่กระบังลม หรือปอด แต่อาจลามไปถึงสมอง โดยเฉพาะบริเวณศูนย์ควบคุมการสะอึกในก้านสมอง
ภาพจาก สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์
เช่นเคสคนไข้หนุ่มวัย 20 ต้น ๆ
ที่เข้ามาด้วยอาการสะอึกนานผิดปกติ ตอนแรกได้ยาลดอาการอาเจียนไป
แต่ไม่ดีขึ้น เมื่อตรวจเพิ่มเติมจน X-ray และตรวจทางระบบประสาท ก็พบว่าเป็น
Neuromyelitis Optica (NMO) x ray พบ สมองขาวจั๊วะ ด้านหลังของก้านสมอง
โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเองที่ส่งผลต่อสมองและไขสันหลัง โดยมี
Anti-Aquaporin 4 antibody ไปโจมตีศูนย์สะอึกในก้านสมอง
โชคดีที่ทีมแพทย์โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่เจอเร็ว จัด Plasma exchange
ให้ทัน อาการดีขึ้นอย่างชัดเจน
อย่าคิดว่าสะอึกเป็นเรื่องเล็ก ถ้าสะอึกนานผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณจากสมอง อย่ารอช้า รีบพบแพทย์