ไขคำตอบ หลังแผ่นดินไหว ทำไมตึกเก่า ๆ ไม่ร้าว ส่วนตึกใหม่ ๆ กลับร้าว เกี่ยวกับสร้างไม่แข็งแรงหรือไม่

ภาพจาก เฟซบุ๊ก Curiosity Channel คนช่างสงสัย
จากเหตุหลายที่พื้นในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 โดยบางส่วนนั้นมีการลงภาพผนังที่แตกร้าวตามอาคาร หรือคอนโด เปรียบเทียบกับอาคารเก่า ที่ดูจากภายนอกเหมือนจะไม่ค่อยได้รับผลกระทบนั้น
วันที่ 28 มีนาคม 2568 เพจเฟซบุ๊ก Curiosity Channel คนช่างสงสัย ออกมาให้ความรู้ถึงข้อสังเกตดังกล่าว โดยยืนยันว่า ไม่ใช่ว่าตึกที่สร้างใหม่นั้นไม่แข็งแรงเท่าตึกเก่า แต่เป็นเพราะ มาตรฐานการออกแบบอาคารสมัยใหม่ เน้นให้โครงสร้างมี ความเหนียว ดูซับแรงแผ่นดินไหวได้ จะเกิดรอยร้าวก่อนพัง มีเวลาให้อพยพ แตกต่างจากตึกเก่าที่ออกแบบให้แข็งเกร็ง หากรับแรงเกินขีดจำกัดจะพังทันที
เพจระบุว่า มาตรฐานการออกแบบอาคารรับแผ่นดินไหวใหม่ ๆ ตั้งแต่ช่วง 2550 เป็นต้นมา ได้กำหนดให้วิศวกรต้องออกแบบตึกให้มีความ “เหนียว” ในการรับแผ่นดินไหว
ก่อนจะไปพูดถึงความเหนียว เรามาพูดสิ่งที่ตรงข้ามกันก่อน ซึ่งก็คือ “ความแข็ง” สิ่งที่แข็ง มันจะตามมาด้วยความเปราะเสมอ หรือก็คือ ถ้ามันพัง มันจะพังอย่างฉับพลัน ไม่มีการเตือนใด ๆ เหมือนกับเราพยามหักดินสอ ดินสอมันหักทันที ไม่มีการร้าวก่อน หรือที่วิดวะเรียกว่า “วิบัติแบบทันที” ซึ่งมันจะอันตรายมาก ไม่มีการเตือนก่อนใด ๆ จากตึกดี ๆ นิ่ง ๆอยู่ ถ้ามันรับแรงไม่ไหว มันจะพังอย่างฉับพลัน ซึ่งทำให้ผู้อยู่อาศัย “หนีไม่ทัน”
แต่อาคารที่เหนียว ตามมาตรฐานการออกแบบสมัยใหม่ ถ้าเจอแรงแผ่นดินไหว มันจะโยกง่ายกว่า แอ่นตัวง่ายกว่า แต่จะยังไม่พังหักพับลงมา เหมือนเราจะพยายามบิดไม้บรรทัดพลาสติก ซึ่งนั่นทำให้เกิดรอยร้าวตามจุดต่าง ๆ ของอาคาร โดยเฉพาะผนัง ซึ่งรอยร้าวนี่แหละ คือสัญญาณเตือนให้ผู้อาศัยรับหลบหนีออกจากอาคาร นั่นเอง (และสลายพลังงานแผ่นดินไหว)
การมีรอยร้าว
ไม่ได้ทำให้ตึกอ่อนแอกว่าการไม่มีรอยร้าว จริง ๆ แล้ว
มันอาจแข็งแรงกว่าด้วยซ้ำ เพราะมันโยกไปโยกมาได้
มันจะสลายแรงแผ่นดินไหวให้กลายเป็นแรงในการโยกแทน
ในขณะที่อาคารแบบแข็งเกร็ง จะสะสมแรงแผ่นดินไหวให้กลายเป็น Stress
ในองค์อาคาร ถ้าสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทนไม่ไหว
มันจะพังอย่างฉับพลันโดยไม่มีสัญญาณเตือนมาก่อน (นึกภาพต้นมะพร้าวเอนตามลม
มันจะไม่หัก แต่ถ้ามันฝืนยืนแข็งทื่อ มันจะหักง่ายกว่า)
ดังนั้น การมีรอยร้าวหลังเกิดแผ่นดินไหวนั้น “ดีแล้ว” ถูกแล้ว
ตรงตามมาตรฐานการออกแบบอาคารรับแผ่นดินไหว “ร้าวเพื่อไม่ให้ล้ม”
ถ้าไม่มีรอยร้าวเลยสิ น่าคิด โดยเฉพาะตึกเก่า ๆ ที่สร้างมานานแล้ว
ส่วนใหญ่จะออกแบบให้เป็นแบบ “แข็งเกร็ง”
ขยายความคำว่า
ถ้าไม่มีรอยร้าวเลยสิ น่าคิด คือการไม่ร้าว แค่แปลว่า มันไม่โยกตัว
ไม่มีสัญญาณเตือน ไม่ได้แปลว่าไม่แข็งแรง ถ้ามันไม่พัง ก็คือแข็งแรง
แต่ที่น่าคิด คือ ถ้าตึกสร้างหลังปี 2550 ไม่ร้าว ก็แปลได้ 2 แบบคือ
แข็งแรงมาก ยังไม่ถึงจุดร้าวตามที่ออกแบบไว้ กับ
ไม่ได้ออกแบบตามมาตรฐานที่ให้มีความเหนียว

ภาพจาก เฟซบุ๊ก Curiosity Channel คนช่างสงสัย
ทำไมแอดมินรู้เรื่องนี้ ? คือตนเอง สามัญวิศวกรโยธา
จบโทด้านอาคารรับแผ่นดินไหว แบบสายตรงเป๊ะกับเรื่องนี้เลย
และยังเป็นผู้ตรวจสอบอาคาร เลขที่ใบอนุญาต บ.2879/2560,
เป็นวิศวกรอาเซียนเลขที่ 2664/2022 , เป็นวิศวกรเอเปค เลขที่ THA-01-00029
ปล.
แต่ร้าว ไม่ได้แปลว่าไม่เสียหาย กลับเข้าไปนอนได้นะ ร้าวคือ
“การแจ้งเตือน” ร้าวคือ “เสียหาย” นั่นแหละ แต่แค่ “ยัง” ไม่พังพับลงมา
เป้าหมายในการทำให้ตึกร้าว คือ เตือนให้ผู้ใช้หนีเป็นเรื่องสำคัญ
(และสลายแรง) เอาชีวิตคนมาก่อน ไม่ใช่แปลว่า ร้าว =
ตึกปลอดภัยกลับเข้าไปอาศัยได้
ยังไงก็ต้องให้วิศวกรมาประเมินความเสียหายและซ่อมแซมอยู่ดี
ร้าวมาก
ๆ ยังไงก็อันตรายอยู่ดี และไม่มีรอยร้าว ไม่ได้แปลว่าไม่แข็งแรงนะครับ
มันก็แข็งแรงแหละ แค่อาจไม่มีรอยร้าวเตือนก่อนเนิ่น ๆ เท่านั้นเอง
หรือแข็งแรงมาก จนยังไม่ถึงจุดที่มันจะร้าวตามที่ออกแบบไว้ ถ้าจะร้าว
แผ่นดินไหวต้องแรงกว่านี้อีก แผ่นดินไหวแค่นี้จิ๊บ ๆ ก็เป็นได้
ไม่มีรอยร้าว แค่ “อาจ” ไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้าไว
แต่ไม่ได้แปลว่าไม่แข็งแรง
ขอย้ำบรรทัดสุดท้ายว่า
ถ้าออกแบบถูกต้อง ไม่ว่าตึกจะแข็งเกร็ง หรือเหนียว
มันจะรับแรงแผ่นดินไหวได้ใกล้เคียงกัน เพียงแต่อันหนึ่งจะร้าวช้า
อีกอันจะร้าวไว และกฏกระทรวงไทยปัจจุบัน ต้องการให้เหนียว
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Curiosity Channel คนช่างสงสัย